เสียงธรรมจากห้อง “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”
วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568
เรื่อง เมตตาวิปัสสนาญาณ
โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค
กำหนดความรู้สึกในความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั่วร่างกาย ผ่อนคลายร่างกายกล้ามเนื้อทุกส่วน พร้อมกับความรู้สึกที่เราปลดผัสสะ ความรู้สึกความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกับร่างกายทั้งหมดออกไป ผ่อนคลายพร้อมกับวางร่างกาย ผ่อนคลายพร้อมกับการตัดขันธ์ห้า วางกายเพื่อแยกกายแยกจิต ฝึกจนกระทั่งจิตของเรา เมื่อผ่อนคลาย จิตแยกจากกาย จิตรวมสู่ความสงบ ผ่อนคลาย ทิ้งกาย จิตรวมเข้าสู่ฌานสมาบัติ นิ่งสงบ ผ่อนคลายปล่อยวาง อารมณ์จิตสงบนิ่ง เบาสบาย
จากนั้นปล่อยวางภาระทั้งหลายของใจ นิวรณ์ห้าประการ กามฉันทะ ความคิด ความปรารถนา หรือแม้กระทั่งความขัดเคืองในสิ่งที่มากระทบทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ปล่อยวางความยุ่งยากฟุ้งซ่านวุ่นวายใจ ปล่อยวางความรู้สึกซึมเศร้า หงอยเหงา ง่วงเหงาหาวนอนทั้งหลาย ปล่อยวาง สู่ความรู้ตื่น ปล่อยวางความลังเลสงสัยวิจิกิจฉา ความสับสนวุ่นวายของใจ ปล่อยวางความพยาบาทการจองเวร ปฏิฆะความหงุดหงิด วางทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นภาระ เป็นความห่วง กิจการงานหน้าที่ ภาระทั้งหลาย สมมุติทั้งหลาย ความห่วงในบุคคล ความห่วงในหน้าที่การงาน ความห่วงความเกาะในทรัพย์สินทั้งหลาย เราวางไปให้หมด ในยามที่วางภาระทั้งหลายของใจเราก็คิดพิจารณาประดุจ ทุกครั้งในการเจริญพระกรรมฐาน ว่าการที่เราวาง เป็นการวางแบบตัดเป็นตัดตาย ตามแบบอย่างของครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติ จนได้มรรคผลพระนิพพาน ตัดเป็นตัดตาย กำลังใจของเราในฐานะฆราวาส เราเอาแค่เบาๆเพียงแค่ ทุกครั้งในการที่เราเจริญสมาธิ เราตัดร่างกาย ประดุจว่ากายเนื้อเราตายแล้ว ปล่อยวางภาระทั้งหลายของใจ ประดุจว่าถ้าเราตายไปแล้ว ภาระทั้งหลายเราก็ไม่ต้องยุ่ง ไม่ต้องเป็นเจ้าของ ไม่ต้องมาสมมุติ ไม่ต้องมามีหน้าที่ หัวโขนทั้งหลายที่แบกไว้ ความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของทั้งหลาย มันก็ไม่เป็นเหมือนดังเดิมอีกต่อไป วางภาระทั้งกายคือตัดวางขันธ์ห้า วางภาระทั้งหลายของใจ ประดุจว่าเราตาย เราจะไปพระนิพพาน เราวางทุกอย่างลงให้หมด ฝึกวางตั้งแต่ต้น วางให้ลง ปลงให้เร็ว วางให้ลง ปลงให้หมดใจ ยิ่งวางได้มากเท่าไร ฝึกวางได้มากเท่าไร ใจเรายิ่งมีอิสระจากภาระ จากนิวรณ์ จากสังโยชน์ทั้งสิบ
กำหนดว่าจิตของเราในขณะนี้ ปล่อยวางทุกสิ่ง วางจนกระทั่งจิตของเราเบา วางจนกระทั่งจิตของเราสงบ สงบนิ่ง สงบสงัดจากกิเลสทั้งหลาย
กำหนดจิตกำหนดรู้จากประสบการณ์ตรง ว่าสุดท้ายแค่การเจริญวิปัสสนาญาณ การเจริญวิปัสสนาญาณทำให้จิตสงบลงในระดับฌานได้ไหม ตอนนี้เราก็รู้ จากผลของการปฏิบัติ วางให้หมด จิตยิ่งสงบ เพราะจิตไม่สงบ จิตเลยไม่อาจที่จะเข้าสู่สมาธิ คือสมถสมาธิได้ ดังนั้นเมื่อเราปล่อยวางตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เริ่มแรกในการปฏิบัติ กลับยิ่งกลายทำให้เราเข้าถึงความสงบของจิตได้เร็วกว่า อันนี้ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติของจิต เราพิจารณาย้อนทวนไปตั้งแต่สมัยที่เราเข้ามาปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกสมาธิใหม่ๆ เรายังไม่เคยฝึก ในการบังคับควบคุมจิตของเราให้สงบลง จากความวุ่นวาย จากความฟุ้งซ่าน พอบอกให้ทำสมาธิ เราหลับตา อาการทางกายมองเห็นว่าเรานั่งขัดสมาธิหลับตานิ่ง กายภายนอกนิ่งแต่ภายในคือจิตมันไม่นิ่ง หลับตาลงก็จริง แต่ภายในใจของเรากลับมีแต่ความคิด การปรุงแต่ง ความห่วง ภาระของใจ และภาระทั้งหลายความหมกมุ่นครุ่นคิดทั้งหลายที่เราคิดวนเวียน มันบางครั้งก็กลายเป็นภาพขึ้นมาในจิต จากการที่จิตมันไม่สงบ ถ้าจิตมันสงบจริง มันจะไม่มีภาพที่เป็นความวุ่นวายผุดขึ้น ไม่มีนิมิตหลอกขึ้น
ดังนั้นการที่เราเจริญวิปัสสนาญาณตัดร่างกาย ตัดกิเลส ตัดภาระทั้งหลายของใจ ปล่อยวางให้มากที่สุด จิตยิ่งสะอาด ยิ่งไม่มีปรากฏที่เป็นนิมิตหลอน ถึงเวลาที่เรายกกำลังใจในการปฏิบัติของเราขึ้นไปสู่การฝึกมโนมยิทธิ ที่หลวงพ่อที่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ถ้าอยากให้นิมิตญาณเครื่องรู้ทั้งหลายมีความถูกต้อง จิตเราต้องตัดกิเลส ตัดขันธ์ห้า ยิ่งตัดขันห้าลึก ละเอียดมากเท่าไร ญาณต่างๆ กำลังของทิพย์จักษุญาณ กำลังของมโนมยิทธิ ยิ่งมีทั้งความถูกต้อง และก็มีทั้งความชัดเจนแจ่มใส อุปมาง่ายๆว่า ความคิดวุ่นวายฟุ้งซ่านทั้งหลาย มันกลายเป็นเงาของจิต เงาของความคิด มาบดบังญาณทัศนะที่ควรจะใสบริสุทธิ์หมดจด ดังนั้นเมื่อเราพิจารณาปล่อยวาง จิตเราจากความโลภโกรธหลง ปล่อยวางจากนิวรณ์ห้า ปล่อยวางจากความเกาะเกี่ยวในร่างกาย ยิ่งปล่อยวางยิ่งทิ้งความคิดการปรุงแต่ง ความยึดมั่นถือมั่นออกไปมากเท่าไร ญาณเครื่องรู้ทั้งหลาย ฌานสมาบัติทั้งหลาย ก็ยิ่งมีความตั้งมั่น มีความชัดเจนแจ่มใสมากขึ้นตามลำดับ ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างในการปฏิบัติธรรมนั้น มีเหตุมีผล สามารถอธิบายสามารถทำความเข้าใจได้ ยิ่งปฏิบัติโดยทำความเข้าใจว่าการปฏิบัติแต่ละจุดมีความสำคัญอย่างไร เป็นไปเพื่ออะไร เกิดผลอย่างไร การปฏิบัติธรรมเราก็ยิ่งมีความก้าวหน้ามากขึ้น ปล่อยวางทั้งร่างกายขันธ์ห้า ปล่อยวางความคิดการปรุงแต่งความยึดมั่นถือมั่น ภาระทั้งหลาย หน้าที่ทั้งหลาย สมมุติทั้งหลาย ปล่อยวางให้หมดจากใจ จนจิตรวมลงสู่ความสงบ นิ่ง ผ่องใส
จากนั้นกำหนดจิตต่อไป จับลมหายใจ เห็นลมหายใจเป็นเหมือนกับแพรวไหม พลิ้วผ่านเข้าออก อารมณ์จิตเบา สบาย สงบ จิตได้พักอยู่กับความสงบเย็นของสมาธิ
จากนั้นกำหนดจิต ยกกำลังจิตตานุภาพ หยุดจิต นิ่งหยุดเป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอุเบกขารมณ์ หยุดปรุงแต่ง หยุดอกุศล หยุดความคิดทั้งหลาย จิตตั้งมั่นเป็นหนึ่งอย่างสมบูรณ์ นิ่งหยุด เมื่อจิตเข้าถึงเอกัคคตารมณ์แล้ว เราจึงกำหนดจุดที่หยุด ขยายกลายเป็นภาพนิมิต เป็นดวงแก้วสว่าง ดวงแก้วสว่างใสปรากฏขึ้นเบื้องหน้ากาย และค่อยๆลอยผ่านเข้าไปทางรูจมูก ผู้หญิงลูกแก้วลอยผ่านเข้าทางจมูกซ้าย ผู้ชายผ่านเข้าทางรูจมูกขวา ลูกแก้วเมื่อผ่านเข้าไปในจมูก ก็ลอยขึ้นไปอยู่ภายในกลางศีรษะ กึ่งกลางกลางศีรษะ ระยะความสูงตรงกันพอดีกับบริเวณอุณาโลม กลางตาที่สาม ดวงแก้วลอยขึ้นไปพ้นศีรษะไปอยู่เหนือกระหม่อมจอมขวัญ สว่างขึ้น
จากนั้นดวงแก้วเคลื่อนตัวลงอยู่ใจกลางศีรษะ กำหนดรู้ให้เห็นดวงแก้วสว่างเป็นประกายพรึกอยู่ใจกลางศีรษะ ลูกแก้วลอยเคลื่อนผ่านลงมาอยู่บริเวณคอหอย ลูกแก้วสว่างขึ้นเป็นเพชรประกายพรึก ลูกแก้วเคลื่อนตัวต่ำลงมาถึงบริเวณหน้าอกบริเวณหัวใจ ลูกแก้วสว่างขึ้นเป็นเพชรประกายพรึก ลูกแก้วเคลื่อนผ่านลงมาอีก ถึงบริเวณใต้สะดือสองนิ้ว ฐานที่ตั้งของจิต ดวงแก้วสว่างเป็นเพชรประกายพรึก
จากนั้นดวงแก้วเคลื่อนลงไปถึงก้นกบ สว่างขึ้นเป็นเพชรประกายพรึก และลูกแก้วก็เคลื่อนย้อนกลับมาอยู่ที่ฐานที่ตั้งของจิตบริเวณใต้สะดือสองนิ้ว สว่างเป็นเพชรประกายพรึก สว่างจนกระทั่งทะลุกายเนื้อ กายเนื้อใสเป็นแก้วสว่าง ภายในกายมีดวงแก้วเป็นเพชรอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ตั้งของจิต ตำแหน่งนี้ก็กำหนดรู้ เป็นจุดเดียวกันหมดของทุกวิชชา ถ้าเรื่องของจักระก็เรียกว่าเป็น “จักระที่สอง” ถ้าวิชาธรรมกายก็เรียกว่า “ศูนย์กลางกาย” ถ้าของจีนก็เรียกว่าจุด “ตันเถียน” ฐานที่ตั้งของพลังทั้งหลาย ถ้าครูบาอาจารย์สายปฏิบัติเจริญพระกรรมฐานสายพระป่าตำแหน่งนี้ก็เรียกว่า “ฐานของจิต” อย่างพระอาจารย์วิริยังค์ ท่านก็เรียกว่าฐานของจิต
ตอนนี้ก็ตั้งฐานของจิต จิตอยู่ที่ฐาน การปฏิบัติถึง ณ จุดนี้ ถ้าเปรียบเทียบ ในวิชชาธรรมกายที่เราฝึกอยู่ ณ จุดนี้ก็เรียกว่าได้ “ดวงปฐมมรรค” เรียบร้อย กำหนดจิตทำความรู้สึกว่าดวงแก้วเป็นเพชรสว่างอยู่ภายในท้องของเรา ฐานที่ตั้งของจิต หยุดจิตก็หยุดที่ฐานที่ตั้งของจิต เอกัคคตารมณ์ก็ตั้งฐานที่ตั้งของจิต “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” หยุดที่ไหน หยุดที่กลาง กลางดวงแก้ว กลางฐานที่ตั้งของจิต กำหนดให้จิตหยุดรวมอยู่ นิ่งหยุด แสงสว่างรัศมีจากดวงแก้วสว่าง ทะลุกายเนื้อขันธ์ห้า ตรงจุดนี้ที่หลวงพี่เล็กท่านให้คำแนะนำเกี่ยวกับการสวดคาถาเงินล้าน ท่านก็บอกว่าให้สวด เพ่งจิตไปที่ศูนย์กลางกาย คือท่านก็ผนวกใช้ในวิชชาธรรมกายของหลวงพ่อสดวัดปากน้ำท่านด้วย
ตอนนี้เราก็ฝึกโดยใช้กสิณของแนววิชชาธรรมกายมาผนวก จริงๆสุดท้ายทุกวิชามีแก่น มีสาระ มีหลักเกณฑ์ เชื่อมโยงทับซ้อนส่งเสริมซึ่งกันและกัน การเคลื่อนดวงแก้วผ่านขึ้นลงในกาย นั่นก็คือ เคลื่อนจิต เคลื่อนดวงกสิณ ไปตามจุดที่เป็นจักระทั้งเจ็ด
ตอนนี้เรามาตั้งกำลังของสมาบัติในกองกสิณ ฤทธิ์อภิญญาที่เกิดขึ้นก็เมื่อเรากำหนดจิตเป็นเพชรประกายพรึกตั้งฐานอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ตั้งของพลัง ฐานที่ตั้งของจิต นิ่งหยุดสงบอยู่ สว่าง
จากนั้นกำหนดอธิษฐานขอให้เห็นกำลังของพุทธานุภาพเป็นองค์พระ เป็นเพชรประกายพรึก สว่าง อยู่ภายในกลางดวงแก้ว ที่ศูนย์กลางกาย ที่บริเวณฐานที่ตั้งของจิต องค์พระสว่าง กำหนดจิตนิ่ง ทรงเป็นฌานสมาบัติไว้ หยุดในหยุด หยุดในกลาง กลางดวงแก้ว กลางองค์พระ และที่ศูนย์กลางกายขององค์พระ ก็มีดวงแก้ว ลึกเข้าไป ภายในลูกแก้วที่ศูนย์กลางกายขององค์พระ ก็ปรากฏองค์พระที่ลึกเข้าไป กำหนดจิตลึกเข้าไป นิ่งหยุด ลึกเข้าไป ในดวงแก้วมีองค์พระ ในองค์พระมีดวงแก้ว ในดวงแก้วมีองค์พระ ในองค์พระมีดวงแก้ว ลึกเข้าไป ยิ่งเข้า ยิ่งสว่าง ยิ่งใส ยิ่งเล็กลง แต่ชัดเจนสว่าง เหมือนพลังงานของจิต กำลังของจิตนิมิต ถูกย่อย่น แต่ในความย่อย่นลึกเข้าไปนั้น ยิ่งโฟกัส คือรวมพลังงาน มีความเข้มข้นตามขนาดที่ถูกบีบให้เล็กลง พลังจิตตานุภาพ กำลังพุทธานุภาพ ในขนาดที่เล็กที่สุด มีความเข้มข้นที่สุด เข้ากลางของกลาง ยิ่งสว่างขึ้น มีพลังขึ้น สว่างขึ้น มีพลังขึ้น ตรงจุดนี้ก็จะเหมือนกันกับหลักของการฝึกกสิณที่เรียกว่าการย่อเล็ก การขยายใหญ่ บังคับภาพนิมิตของกสิณ เราทรงอารมณ์ กำหนดเพ่งเข้าไปภายใน อยู่ภายในองค์พระ ยิ่งชัดเจนขึ้น สว่างขึ้น มีกำลังขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็นิ่งหยุดอยู่กับนิมิตที่เห็นองค์พระทั้งหมดลึกเข้าไป นิ่งหยุด สงบ กำหนดว่าจิตหยุดในกลางของกลาง สว่าง องค์พระที่เล็กที่สุดนั้น เป็นเพชรสว่างเจิดจ้าเจิดจรัส นิ่ง สงบ สว่าง พลังของจิต บีบอัดเข้มข้น จิตมีความสว่าง มีพลังงานของจิตตานุภาพเข้มข้นขึ้น
จำไว้ว่า จุดสำคัญของการฝึกกสิณ คือภาพนิมิตสัมพันธ์กับอารมณ์จิต ยิ่งสว่าง ยิ่งชัด ยิ่งเป็นสุข ยิ่งมีความเป็นทิพย์ ภาพที่ปรากฏยิ่งสว่าง ยิ่งชัดเจน ทุกครั้งที่ฝึกกสิณ ความรู้สึกของจิต มีความรู้สึกว่าจิตของเราเปี่ยมพลังจากภาพนิมิตที่ปรากฏ และในขณะเดียวกันความรู้สึกที่เปี่ยมพลังนั้น มันมีมากจนรู้สึกว่าเป็นพลังงานที่ถูกอัดแน่นประจุอยู่ภายในภาพนิมิต ภายในแสงสว่าง จนรู้สึกว่าพลังงานนั้นพร้อมที่จะเปล่งประกาย พร้อมที่จะเจิดจรัส พร้อมที่จะระเบิดออกมาเป็นพลังงานมหาศาล
กำหนดจิตที่นิ่งหยุด เปี่ยมไปด้วยพลังงานศักย์ ในความนิ่งมีความเปี่ยมพลัง ประดุจนักธนูที่เหนี่ยวคันธนูจนตึงที่สุด แต่หยุดนิ่งอยู่ที่เป้าหมาย แต่แรงเหนี่ยวนั้น เมื่อไรที่ปลดปล่อยพลังงาน คือสายธนูออก ธนูก็พร้อมที่จะพุ่งออกไปด้วยความเร็วอย่างสูงที่สุด ไปยังจุดหมาย จุดหมายก็คือสิ่งที่เราตั้งจิตอธิษฐาน ดังนั้นความรู้สึกว่าเราเหนี่ยวธนู เหนี่ยวหย่อนๆ ดอกธนูหรือเกาทัณฑ์มันก็พุ่งไปตกแค่ข้างหน้า แต่เมื่อไรที่ความรู้สึกมันอัดประจุแน่นอยู่ภายใน เหมือนกับเหนี่ยวจนตึงที่สุดเต็มที่ พลังในแรงอธิษฐานที่เรากำหนดจิต คือเป้าหมาย มันก็จะมีพลังมากกว่า สภาวะของคนที่ทรงสภาวะของนิมิตกสิณ โดยที่มันนิ่งนิ่งเฉยๆ ไม่ได้มีความรู้สึกถึงความเปี่ยมพลัง ไม่เข้าถึงสภาวะพลังแห่งกสิณอย่างแท้จริง กสิณจะทรงกลายเป็นอภิญญาได้ก็ด้วยพละแห่งจิตตานุภาพที่เปี่ยมพลังความรู้สึกของผู้ที่ปฏิบัติผู้ที่ฝึกฝน
กำหนดจิตให้จิตของเราเปี่ยมพลังเต็มที่ องค์พระสว่าง ภายในเข้มข้น บีบอัดเข้มข้น โฟกัสเข้มข้น เหมือนแสงเลเซอร์ที่ถูกบีบจนเหลือเล็กที่สุดแต่มีความคมความเข้มข้นที่สุด จิตเปี่ยมพลัง
จากนั้นจึงกำหนดแผ่เมตตาสว่าง ระเบิดพลังสว่างเป็นเมตตาออก คลื่นกระแสของความเมตตามีพลังมากกว่าดวงอาทิตย์ทั้งหลายทั่วอนันตจักรวาลมารวมกัน แสงสว่าง ความสว่าง ความสงบเย็น ความเมตตา แผ่สว่างออกไปทั่วสามภพสามภูมิ เมื่อแผ่เมตตาไปแล้ว เราก็อาศัย ว่าเราปฏิบัติ เราเจริญพระกรรมฐาน เราฝึกสมาธิ เราฝึกกสิณ เราฝึกจิตทั้งหลาย ทาน ศีล ภาวนาทั้งหลาย ก็เป็นไปเพื่อพระนิพพานเป็นที่สุด
กำหนดจิตว่าพลังงานของจิตตานุภาพที่มีพลังงานอย่างหาที่สุดไม่ได้ เป็นเหมือนกับเชื้อเพลิง เป็นพลังงานที่ผลักดันจิตเราพุ่งออกไป ดวงจิตพุ่งออกไปเป็นแสงด้วยความเร็วยิ่งกว่าแสง พุ่งขึ้นไปจนถึงพระนิพพาน จิตที่เป็นดวงแก้วเปลี่ยนสภาวะ จากรูปลักษณ์ของดวงแก้วที่เป็นเพชรประกายพรึก คือสภาพของพลังงาน คือดวงจิต กลายเป็นรูปลักษณ์ที่เรียกว่า อาทิสมานกาย พลังจิตก่อรูปลักษณ์ thought form ขึ้นเป็นกายพระวิสุทธิเทพ กายพระวิสุทธิเทพปรากฏขึ้นอยู่เบื้องหน้าพระพุทธเจ้า สมเด็จองค์ปฐม พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอรหันต์ทุกๆพระองค์บนพระนิพพาน
กำหนดสติความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในความเป็นกายทิพย์ พิจารณาไล่สภาวะความเป็นไป รูปลักษณ์ เครื่องทรง เครื่องประดับ ตั้งแต่ศีรษะไปจนกระทั่งถึงปลายเท้า เนื้อตัวกำหนดตัวรู้ ตั้งแต่ปลายเท้าฉลองพระบาทปลายงอน ไล่ขึ้นมาจนกระทั่งถึงยอดมหาพิชัยมงกุฎที่สวมใส่ เครื่องประดับอาภรณ์ทั้งหลาย เรากำหนดรู้ ความใสของกาย ความเปล่งประกายแสงสว่างของกาย เรากำหนดรู้ สิ่งสำคัญที่สุด คือการกำหนดรู้ว่า เราปรากฏในรูปลักษณ์ของกายพระวิสุทธิเทพ เพราะความสะอาดบริสุทธิ์ของจิตเราขณะนี้ เราตัดร่างกาย เราตัดนิวรณ์ห้า เราตัดความรักโลภโกรธหลง เราตัดสังโยชน์ทั้งสิบ เราตัดความอยากความปรารถนาความเกาะในภพชาติทั้งหลาย จิตชั่วขณะ ขณะที่เราปฏิบัตินี้ เรามีความสะอาดบริสุทธิ์ของจิต สิ้นภพจบชาติทั้งหลาย กายทิพย์เราจึงปรากฏในสภาวะของการเป็นกายพระวิสุทธิเทพ และขณะเดียวกัน เราก็กำหนดรู้ว่า เราก็คืออาทิสมานกายนี้ แท้ที่จริง เราไม่ใช่ร่างกายขันธ์ห้ากายหยาบ ขันธ์ห้ากายหยาบกายเนื้อธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อาการสามสิบสองที่มารวมตัวกัน มันเกิดขึ้นจากสภาวะที่จิตเรามาเสวยวิบากตามเหตุแห่งกุศล ตามเหตุแห่งอกุศล ตามเวรตามกรรมที่กระทำมา ตามจิตที่อธิษฐานที่เกาะที่ยึดที่ห่วง เมื่อเราตัดทั้งหมด กายเราตอนนี้จึงเป็นกายพระวิสุทธิเทพ กำหนดรู้ในความเป็นกายพระวิสุทธิเทพชัดเจน จนจิตสิ้นสงสัย เป็นการตัดวิจิกิจฉา ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในสภาวะกายทิพย์ ฝึกจนกระทั่งชัดเจนว่าเราขึ้นมาจริงๆ ไม่มีคำถามที่เราจะต้องไปถามคนอื่นอีกว่า เราขึ้นมาบนนี้ได้หรือไม่ได้ ความรู้สึกเหมือนกับเราขึ้นมาอย่างแท้จริงปรากฏ กายทิพย์อยู่บนพระนิพพานอย่างแท้จริง
จากนั้นน้อมจิตกราบพระพุทธเจ้าสมเด็จองค์ปฐมด้วยความนอบน้อม กราบด้วยความเคารพ ค่อยๆน้อมจิตกราบ กราบให้ถึงซึ่งไตรสรณคมน์ กราบให้ถึงพระคุณความดีของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง ความดีของสมเด็จองค์ปัจจุบัน ความดีของพระธรรม ความดีของพระสงฆ์ครูบาอาจารย์ เมื่อกราบแล้ว เรากำหนดจิต อธิษฐาน ขอให้เห็นอาทิสมานกายเราปรากฏเจริญพระกรรมฐาน นั่งสมาธิขัดสมาธิอยู่บนรัตนบัลลังก์ดอกบัวแก้ว อยู่เบื้องหน้าพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ทุกๆพระองค์ จากนั้นเจริญวิปัสสนาญาณอยู่บนพระนิพพาน พิจารณาธรรมทั้งหลาย ธรรมอันเป็นคู่ปรับ ธรรมอันเป็นเครื่องตรงข้าม ยิ่งจิตเรามีปัญญาพิจารณาเข้าใจในธรรมมากขึ้น ใช้ธรรมอันเป็นเครื่องตรงข้ามมาละวาง มาสลัดถากถางกิเลสให้มันเบาบางลง การตัดวางการเจริญวิปัสสนาญาณจำไว้เสมอว่ามันไม่ใช่ว่าเราจะพิจารณาเพียงครั้งเดียวแล้วกิเลสมันจะขาดสะบั้นไปได้ เพราะกิเลสทั้งหลายมันอยู่กับใจเรามาหลายภพหลายชาติ นานมากมายมหาศาล พิจารณาเอาเพียงแต่ว่าความรักความอาลัยระหว่างคู่ที่เคยเกิดมาพบเจอมาเป็นคู่บุพเพสันนิวาสกัน เจอกันครั้งแรก ใจมันก็รู้สึกสะเทินขึ้นมาในอก จากสัญญาความจำที่มันเคยพบเคยเจอมาหลายภพหลายชาติ ขนาดครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติธรรม บางครั้งก่อนที่ท่านจะบรรลุอรหันต์ ท่านมาเจอคู่ของท่าน บางองค์กว่าท่านจะพิจารณาตัดไปได้ วางไปได้ ยังต้องใช้เวลาตั้งนาน ตัวเราเองทั้งหลายก็เช่นกัน มันไม่ใช่เพียงแค่คู่ที่เป็นคู่รักคู่บุพเพสันนิวาส มันยังมีคู่อาฆาตคู่เวรคู่กรรมคู่พยาบาท คนที่เขาเป็นเจ้ากรรมนายเวรหรือแม้แต่คนที่เราเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรกับเขา คือเราไปจองเวรเขา แค่เจอหน้ากันมันก็มีความไม่พอใจไม่ถูกขี้หน้า มีความหมั่นไส้อย่างไม่ทราบสาเหตุ จนกระทั่งถ้าเกิดสำหรับใครบางคนที่ฝึกสมาธิมีญาณเครื่องรู้ ระลึกชาติได้ มีบุพเพนิวาสานุสติญาณ เราพิจารณาดูว่ามันเป็นเพราะเหตุใดบุคคลเหล่านี้เราถึงเกลียดขี้หน้า เราถึงไม่ชอบ เวลารู้เวลาดูแล้วก็รู้เพื่อละ ไม่ได้รู้เพื่อผูก คนที่ได้ญาณได้มโนมยิทธิมีญาณเครื่องรู้ รู้ละ วิธีรู้แล้วละก็คือรู้ว่าเหตุการณ์ในอดีตที่มันทำให้เราหมั่นไส้ไม่ชอบหรือบุคคลคนนี้เขาก็ไม่เคยทำดีกับเรา กลั่นแกล้งรังแกมันมีสาเหตุอะไร เราไปดูก็เพื่อให้รู้ว่าเหตุการณ์มันเป็นแบบนี้ เราเคยทำเขา เขาเคยทำเรามาก่อน พอรู้ คนที่รู้แล้วไม่ยอมละก็คือนี่ไงเมื่อก่อนเขาทำแบบนี้กับเรามาก่อน ดังนั้นชาตินี้เราจะต้องเอาคืน อันนี้ก็คือรู้เรายิ่งผูกเวรรู้เรายิ่งเป็นเครื่องที่เอาความรู้ของจิตมากเป็นตัวนำพาให้ตัวเองลงนรก แต่รู้แล้วละก็คือการที่เราพิจารณารู้แล้วก็อโหสิกรรม รู้แล้วก็ให้อภัยทาน รู้แล้วก็ตัดเวรตัดกรรมด้วยตัวเราเอง ด้วยการอโหสิกรรม คือหยุดการจองเวร
จำไว้ว่าหยุดที่เราเบาที่สุด ถ้าหากเราตัดไม่ได้ ละเลิกการจองเวรไม่ได้ เราก็จงพิจารณาว่า ถ้าเราเลิกจองเวรไม่ได้ เราก็ยังต้องไปเจอไปเกิดไปเจอกับเขาอีกเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นชาติ หรือไม่หยุดจริงๆ มันก็หาปลายของเหตุการณ์ ปลายของชาติภพ ไม่รู้จะต้องไปเกิดตามเกิดเจอ จองเวรผลัดกันทำผลัดกันฆ่า ผลัดกันทำร้าย ผลัดกันเบียดเบียนอีกกี่หมื่นกี่แสนชาติไม่มีที่สิ้นสุด เราตัดเราหยุด หยุดได้อันที่จริง ผู้ที่ให้อภัยได้คือผู้ที่ชนะ ชนะภพชาติ ชนะตนเอง ชนะศัตรู เพราะศัตรูเขาไม่อาจให้อภัยเราได้แต่เราให้อภัยก็ได้ นี่แต่ว่าจิตเราสูงกว่าเขา แต่มนุษย์ปุถุชนทั่วไปจะมีความเข้าใจสำคัญผิด ว่าการยอมการอภัยคือความอ่อนแอ แต่ความเป็นจริงการให้อภัยคือการที่บุคคลนั้นมีจิตใจสูง มีสภาวะจิตสูง มีบุญ มีธรรมสูงกว่าบุคคลที่มีแต่ความโมโหโกรธา อาฆาตเบียดเบียนพยาบาท เพราะจิตเหล่านั้นเป็นจิตของภพต่ำภูมิต่ำ จิตให้อภัยเป็นจิตของอารยะจิต
ดังนั้นเรากำหนดรู้ว่าใครจะพูดอะไร โลกปุตุชนจะคิดพิจารณาว่าเราอ่อนว่าเราอ่อนแอ แต่เรารู้ว่าการให้อภัย การตัด การละ การวาง คืออริยจิต เราจึงปล่อยวาง ผูกเวรไปก็ยิ่งก่อภพก่อชาติ
ตัดภพจบชาติ ก็คือ ยิ่งต้องเคลียร์ ต้องปิด ต้องจบ เราพิจารณาได้มากเท่าไร ปัญญาญาณเราก็ลึกซึ้งมากกว่าบุคคลทั่วไปที่เขาไม่มีญาณเครื่องรู้
จำไว้เสมอว่า รู้เพื่อละ มีเหตุเราก็พึงกำหนดรู้ รู้พยายามรู้ให้ได้ด้วยตัวเอง จำไว้เสมอว่าการที่บุคคลอื่นเขามาบอกอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเราจะปล่อยวาง กับการที่เรารู้กระจ่างขึ้นมาด้วยจิตด้วยญาณเครื่องรู้ แล้วเราวางเพราะเรารู้แล้วว่ามันวางได้มากกว่า วางได้ลึกกว่า วางได้จริงกว่าการที่คนอื่นเขามาบอก ด้วยเหตุนี้หลวงพ่อท่านเคยสอนว่าไม่ต้องให้คนอื่นเขาดู ถ้าหากเรารู้ เรารู้ด้วยตัวเอง วางก็วางด้วยตัวเราเอง ละ ดับ ก็ ละ ดับ ให้อภัยก็ด้วยตัวเราเอง ไม่ใช่ว่าคนอื่นเขามาบอกให้ทำ พิจารณาว่ามันไม่ได้มาจากใจอย่างแท้จริงมันก็แตกต่างจากการที่เรากำหนดรู้อย่างแท้จริงแล้วปล่อยวางให้อภัย ดับ ตัดภพชาติ
ดังนั้นเมื่อเราเข้าใจตรงจุดนี้แล้ว เราก็เลิกที่จะไปถามคนนู้นคนนี้ในเรื่องญาณเครื่องรู้ต่างๆ หรือสิ่งที่ผุดรู้ต่างๆขึ้นในจิต พิจารณาเลยว่ารู้เพื่อละ ทุกอย่างที่มันเป็นญาณเครื่องรู้ จำไว้ว่ารู้เพื่อละ มีภาษากำหนดรู้ รู้ว่ามีผีมาหา มีวิญญาณมาหา เราก็รู้เลยว่ามันก็ต้องมีเหตุ ส่วนใหญ่เขามาขอส่วนบุญ เราก็กำหนดรู้ไป พอกำหนดรู้ไปปุ๊บ เราก็ปล่อยวาง ปล่อยวางเสร็จแผ่เมตตาเสร็จมันก็จบเราก็วาง เขามาขอเราก็ให้ก็จบแค่นั้น แต่บางคนเจอผีแล้วก็ยิ่งกลัวยิ่งหวาดหวั่น ทางผีก็สื่อสารไม่รู้เรื่องก็พยายามที่จะสื่อสารก็พยายามจะแสดงให้เรารู้สึกให้เราเห็น เราก็ยิ่งกลัว สรุปแล้วมันก็ไม่ได้ประโยชน์กันทั้งผีทั้งคน ของเรากำหนดรู้ปุ๊บจับได้ปั๊บมีจิตมีวิญญาณมา เราก็แผ่เมตตาก็จบ จบให้ไว จำไว้ทุกสิ่งทุกอย่างยิ่งจบไวมากเท่าไรยิ่งดี เหมือนกับเราทางโลกการมีคดีความ เราอยากให้มันยืดเยื้อ สามศาล กาลเวลาผ่านไปเป็นสิบปี ยี่สิบปี คือมีเวรมีกรรมต่อกันไปสิบชาติร้อยชาติพันชาติ หรืออยากจะจบปิดคดีมันเร็วที่สุด ไม่ต่างกัน
ดังนั้นจำไว้ว่าปิดให้ไวที่สุด วางให้เร็วที่สุด ปลงให้เร็วที่สุด เร็วให้ได้เหมือนกับลัดนิ้วมือเดียวได้เท่าไรยิ่งดี แล้วคำครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นพระอริยเจ้า ท่านสอนท่านบอกว่าสิ่งที่เราจะปล่อยวางสิ่งที่เราจะตัด อย่างกิเลส เราจะไม่ได้ถ้าเราไม่เห็นโทษของมัน ตราบที่ไม่เห็นโทษเราก็จะไม่ปล่อยวาง เหมือนกับสิ่งที่เป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติ ถ้าไม่เห็นประโยชน์เราก็จะไม่ปฏิบัติแต่ถ้าเราเข้าใจประโยชน์อย่างลึกซึ้งเราก็จะอยากปฏิบัติ
ดังนั้นหลักของการตัดกิเลสก็คือ ต้องพิจารณาถึงโทษของกิเลสข้อนั้นๆสิ่งนั้นๆที่เราต้องการตัด อันนี้เป็นแนวทางในการเจริญวิปัสสนาญาณ
อย่างความอาฆาตพยาบาท เราจำไว้เลยว่า มันก่อภพก่อชาติ และการเกิดมาเจอกันมันก็ไม่ได้เจอแบบดีๆ มันเจอแบบเบียดเบียนทำร้าย เอารัดเอาเปรียบ ประหัตประหาร เอาคืนกัน คือมีแต่เรื่องมีแต่ราว เมื่อเห็นโทษแล้วเราพึงตัด เขาไม่ยอมตัดแต่เราตัด กระแสคลื่นที่มันเป็นแรงดึงดูด ตบมือข้างเดียวมันไม่ดัง มันก็เบาลง แล้วเราตัดได้มากเท่าไร เราก็ใกล้พระนิพพาน จำไว้แค่นี้ ประโยชน์ทำไมเราถึงต้องตัด ตัดได้มากเท่าไรยิ่งใกล้พระนิพพาน ปล่อยวางได้มากเท่าไรยิ่งใกล้พระนิพพาน หรืออย่างความโลภเราคิดพิจารณาดูว่า ความโลภทั้งหลายนำพามาซึ่งการเบียดเบียน ยิ่งโลภมากยิ่งอยากมากยิ่งภาระมาก อยากมีบ้านสัก 100 หลัง อยากมีบ้านตอนแรก 1 หลัง อยากมีบ้าน 2 หลัง 3 หลัง อยากมีบ้านมันต่างประเทศ ลองคิดพิจารณาว่ายิ่งอยากมีมากเท่าไร ความอยากมันก็กระตุ้นให้เราอยากซื้ออยากสร้างอยากมี พอมีขึ้นมาแล้วบ้านแต่ละหลัง ความอยากของเรามันนำพาภาระกลับมาให้ ยิ่งบ้านหลายหลังก็มีค่าไฟหลายหลายหลัง ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าใช้จ่าย ค่า Maintenance ค่าดูแล มีรถหลายคันมากเกินไป ก็มีค่าใช้จ่ายค่าซ่อม ค่าบำรุงรักษา ค่าประกัน รวมความแล้วว่ายิ่งอยากมากก็ยิ่งภาระมาก ยิ่งอยากมากก็เหนื่อยมาก ยิ่งครอบครองมากก็มีเรื่องวุ่นวายมาก
ดังนั้นเมื่อจิตของบุคคลที่ท่านเริ่มปล่อยวางจากความอยากความปรารถนา ในกามคุณ ในทรัพย์สินในสมบัติทั้งหลายมันคลายลงไป จิตเริ่มก้าวเข้าสู่ความเป็นพระอนาคามีมรรค อนาคามีผล ท่านก็จะพิจารณาปล่อยวางทรัพย์ ปล่อยวางภาระจนเริ่มเข้าสู่ความสมถะความพอดีอย่างยิ่ง คือไม่ปรารถนาจนเกินพอดี ไม่ยึดติดในวัตถุสิ่งของ หน้าที่การงาน ตำแหน่ง เกียรติ อำนาจ โลกธรรมทั้งแปด ลาภยศ ชื่อเสียง เงินทอง ทรัพย์สินสมบัติ คำสรรเสริญ ก็จะจืดลงไปจากอารมณ์จิตของท่านไปเรื่อยๆ ดังนั้นเมื่อไรที่เราเข้าถึงธรรมที่มันสูงขึ้น สูงสุดก็จะคืนสู่สามัญ จากร่ำรวยจากปรารถนาจากที่เราโลภอยากรวยมากๆ ก็จะเริ่มพิจารณาจนกระทั่งปล่อยวางจนเข้าสู่จุดสมดุล จนเข้าสู่จุดที่เป็นความสมถะ จนเป็นจุดที่เข้าสู่สมถชีวิตา ความพอเหมาะสมพอดีกับชีวิตของเรา เหตุนี้ผู้ที่ถือบวชเป็นพระ พระพุทธเจ้าถึงบัญญัติว่าปัจจัยสี่ ก็มีแค่อัฐบริขารแปด กุฏิท่านก็มีขนาดให้ไม่ใหญ่เกินไป ไม่เป็นภาระ กวาดแป๊บเดียวก็เสร็จ เช็ดถูเก็บแป๊บเดียวก็เสร็จ อันนี้ก็เลยเป็นข้อวัตรข้อปฏิบัติ ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่จิตเราก้าวขึ้นสู่ที่สูงขึ้น ต้องการจะปลดละภาระของชีวิตปลดละภาระของใจความวุ่นวายของจิตลง ยิ่งน้อยก็ยิ่งไม่รุงรัง ยิ่งมากก็ยิ่งวุ่นวาย
กำหนดรู้ กำหนดพิจารณา ให้จิตเราเข้าสู่ความสมดุล ความสงบ ความพอดี
กำหนดสิ่งใดตัด ความพยาบาท ตัดความโลภ ตัดความโกรธ ตัดความหลงใหลคลั่งไคล้ให้มันเบาลงจางลง จิตมันก็ยิ่งสงบสุข ตัดเรื่องราวดราม่า ตัดเรื่องราวที่วุ่นวายใจ ยิ่งตัดยิ่งวางได้มากเท่าไรใจก็ยิ่งเป็นสุข
กำหนดจิตว่า ณ ขณะนี้ จิตของเราทรงสภาวะอยู่บนพระนิพพาน ถ้าเราตายไปเราวางทุกอย่าง จิตเราปราศจากความอาลัย จิตเราไม่จ่อมจมอยู่กับโคลนตรมความทุกข์มลทินเครื่องเศร้าหมองของจิต เมื่อจิตอยู่บนพระนิพพานแล้ว ก็เสวยอารมณ์ในวิมุตบนพระนิพพาน พิจารณาธรรมว่าจิตของเราปล่อยวาง ตัด ดับล้างชาติภพทั้งหลาย สิ้นภพจบชาติ ไม่ปรารถนาการเกิด ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเราในการเป็นมนุษย์ จิตเราทรงอารมณ์ที่ปราศจากภาระทั้งหลาย “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ปล่อยวางทุกอย่าง
จิตสงบนิ่ง จิตเป็นสุขอย่างยิ่ง จิตสะอาดจากสรรพกิเลสทั้งหลายอย่างยิ่ง ว่างจากภาระว่างจากกิเลสอย่างยิ่ง “นิพพานัง ปรมัง สุญญัง”
จากนั้นจึงน้อมอาราธนากระแสจากพระนิพพานแผ่เมตตาลงมายังสามแดนโลกธาตุ นับตั้งแต่อรูปพรหมทั้ง 4 พรหมโลกทั้ง 16 ชั้น สวรรค์ทั้ง 6 ชั้น อากาศเทวดา ภูมิเทวดา ทั่วอนันตจักรวาล
แผ่เมตตาลงมายังภพภูมิของมนุษย์และสัตว์ทั่วอนันตจักรวาล
แผ่เมตตาลงมายังภพของโอปปาติกะสัมภเวสีดวงจิตดวงวิญญาณที่เร่ร่อนทั้งหลายชาวเมืองบังบดลับแลมิติที่ทับซ้อนจักรวาลคู่ขนาน
แผ่เมตตาต่อไปยังภพของเปรตอสุรกายทั้งหลาย
แผ่เมตตาต่อไปยังภพของสัตว์นรกทั้งหลายทุกขุมลึกลงไปจนกระทั่งถึงโลกันตนรก
จากนั้นตั้งจิตอธิษฐาน ขอบารมีพระพุทธองค์สมเด็จองค์ปฐมทรงปรากฏเป็นนิมิต สมเด็จองค์ปฐมทรงเครื่องจักรพรรดิเปิดโลก แผ่เมตตาเปิดสามภพภูมิ ให้กระแสเมตตาที่ข้าพเจ้าตั้งจิตแผ่อุทิศทั้งสามภพภูมิ จนถึงมวลสรรพสัตว์ ตั้งจิตอธิษฐาน อโหสิกรรม ให้อภัยทานต่อทุกดวงจิต ขอขมาลาโทษต่อทุกดวงจิต ตัดเวรตัดกรรม ตัดห่วงตัดอวิชชา ตัดความอาลัยกับทุกดวงจิต เพื่อจิตจะได้หลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพาน ตัดความห่วง ตัดความอาลัยทั้งหลาย พร้อมกับกระแสเมตตา ความผูกพันความรักในหนุ่มสาวในระหว่างเพศไม่มีในจิตเรา ความรักเรามีแต่ความเมตตาอุเบกขา สงเคราะห์ได้สงเคราะห์ สงเคราะห์ไม่ได้อุเบกขา
แผ่เมตตาสว่างทั้งสามภพภูมิ จิตสะอาดบริสุทธิ์ สว่าง
จากนั้นน้อมกระแสจากพระนิพพานลงมายังโลก เป็นลำแสงสว่าง ชำระล้างสิ่งที่เป็นข้อขัดแย้ง ภัยพิบัติทั้งหลาย จิตใจที่โหดร้ายทารุณทั้งหลาย จงสลาย จงเบา จงดับลง
สงครามทั้งหลายจงดับลง สันติสุขสันติภาพ ความสุขสงบร่มเย็นอุดมสมบูรณ์ จงปรากฏ กระแสจากพระนิพพานขอจงชำระล้างธาตุทั้งสี่ ในโลก
กระแสบุญจงส่งถึงแม่พระธรณีโดยตรง กระแสพลังจงส่งถึงใจกลางโลก มหาสมุทร แม่น้ำ ลำธาร อากาศ ชั้นบรรยากาศ จงกลับมาฟื้นคืนสู่ความสะอาด ใส บริสุทธิ์ พื้นดินจงสะอาดบริสุทธิ์จากเคมี มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพฤกษาหาร มังสาหาร ธัญญาหาร น้ำสะอาดใส คนและสัตว์ทั้งหลายปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ ฟ้าดิน ดินฟ้าอากาศ ถูกต้องตามฤดูกาล
จากนั้นน้อมกระแสจากพระนิพพานลงมาคลุมประเทศไทยทั้งหมด ขอจงผ่านพ้นวิกฤต ขอบุคคลที่มีคุณธรรมความดี มีศีลธรรมจริงใจต่อประชาชนทั้งหลาย จงได้มีกำลังได้ขึ้นมาเป็นใหญ่ คนชั่วคนคิดร้ายคนโลภคนคิดร้ายทำลายชาติมีความโลภ ขอจงแพ้ภัยตัวเองไปด้วยกฎของกรรม
น้อมกระแสจากพระนิพพานลงมายังเขตของพระพุทธศาสนา ขอพุทธบริษัทสี่ จงมีจิตที่บริสุทธิ์ในสัมมาทิฐิ มีคุณธรรมศีลธรรม ภูมิจิตภูมิธรรมยกระดับขึ้น ขอวัดวาอาราม สถานปฏิบัติธรรมทุกแห่ง พระพุทธรูปทุกพระองค์ พระเครื่อง วัตถุมงคล ผ้ายันต์ประเจียดตะกรุดทั้งหลาย พระบรมสารีริกธาตุ พระบรมธาตุ พระธาตุเจดีย์ พระบรมสารีริกธาตุ พระอัฐิธาตุ พระอรหัตธาตุ ปรากฏกำลังแห่งพุทธานุภาพ มีความศักดิ์สิทธิ์อัศจรรย์ เทวดาพรหมคุ้มครองรักษา
น้อมกระแสจากพระนิพพานลงมาทำนุบำรุงสถาบันพระมหากษัตริย์ พระสยามเทวาธิราช พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง พระกาฬไชยศรี พระคลังมหาสมบัติ เทพยดาอารักษ์ผู้พิทักษ์รักษาชาติราชบัลลังก์แผ่นดิน ขอจงมีกำลังเต็มกำลัง ขอเทวดาพรหมทั้งหลาย พิทักษ์รักษาคุ้มครองคนดี ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดในแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดในโลกใบนี้ ที่จะช่วยนำพาโลกใบนี้เข้าสู่ยุคชาววิไล ขอจงชนะในหมู่มวลอธรรมทั้งหลาย ขอจงชนะอุปสรรคภยันอันตรายทั้งหลาย ขอกำลังเทพพรหมเทวดารักษาคุ้มครองบุคคลทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นพุทธภูมิผู้ที่เป็นโพธิสัตว์ฟื้นคืนตื่นขึ้นสู่หน้าที่ที่พึงทำในยุคต่อไปด้วยเถิด
ตั้งจิตอธิษฐาน ให้เกิดบุญ ให้เกิดความสว่างขึ้น
จากนั้นกราบลาพระพุทธเจ้าและทุกท่านทุกๆพระองค์บนพระนิพพานด้วยความนอบน้อม
ขอพรจากพระพุทธองค์ บุญจงสำเร็จประโยชน์ จิตที่ปรารถนาพระนิพพานจงสำเร็จสัมฤทธิ์ในชาตินี้ กิจการงานกุศลทั้งหลายที่ทำเป็นพุทธบูชาจงสำเร็จลุล่วง คุณความดีทั้งหลายของข้าพเจ้าแต่ละบุคคลจงปรากฏต่อเทวดา พรหม ทั่วภพภูมิ
จากนั้นกราบลาแล้วก็พุ่งจิตกลับลงมาที่โลกมนุษย์ อธิษฐานจิตขอน้อมกระแสจากพระนิพพานลงมาชำระล้างฟอกธาตุขันธ์ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ใสสะอาดเป็นเพชรประกายพรึก โครงกระดูกทั่วร่างกายใสเป็นเพชรประกายพรึก หลอดเลือด เส้นเอ็น สะอาดใส สลายล้างการอุดตันทั้งหลาย เส้นลมปราณทั้งหลาย โคจรราบรื่นเปี่ยมพลัง เซลล์ทุกเซลล์ กล้ามเนื้อทุกส่วนกลายเป็นแก้วกลายเป็นเพชร สะอาดใส ธาตุธรรมฟอกธาตุขันธ์ สมอง หลอดเลือดเลี้ยงสมอง ปอด หัวใจ หลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจ สะอาดใส ทั่วร่างกาย เซลล์ทุกเซลล์ปรับฟื้นคืนสู่เซลล์ใหม่ที่แข็งแรงสมบูรณ์ กายเนื้อกายทิพย์สะอาด ฟอกชำระล้างกายจิตสะอาดใส รัศมีบุญราศรี รัศมีกายรัศมีจิตเปล่งประกาย บุญบารมีทั้งหลายเพิ่มพูนขึ้น สะสมเพาะบ่มรวมตัวขึ้น พ้นจากวิบากทั้งปวงอุปสรรคทั้งปวง ภยันอันตรายทั้งปวงจงปลาสนาการไปด้วยกำลังแห่งบุญฤทธิ์อิทธิฤทธิ์เทพฤทธิ์
จากนั้นน้อมจิตอธิษฐาน ขอสายบุญสายทรัพย์สายสมบัติหลั่งไหลลงมา ความคล่องตัวหลั่งไหลลงมา
จากนั้นน้อมจิต โมทนาสาธุกับเพื่อนๆที่ปฏิบัติธรรมด้วยกันทุกคน ขอให้บุญที่ปรารถนาพระนิพพานจงสำเร็จกับทุกคน
จากนั้นหายใจเข้าลึกๆช้าๆ 3 ครั้ง หายใจเข้าพุทธออกโธ ครั้งที่ 2 ธัมโม ครั้งที่ 3 สังโฆ
ลืมตาขึ้นช้าๆ ถอดจิตช้าๆ ออกจากสมาธิด้วยจิตอันเป็นสุขผ่องใส ใจแย้มยิ้มเบิกบาน
สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคน ให้เราทุกคนมีแต่ความสุขความเจริญ มีแต่ความคล่องตัว แล้วก็ขอประชาสัมพันธ์ พรุ่งนี้อาจารย์ไปสอนสมาธิที่ศูนย์พุทธศรัทธา อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นศูนย์ของวัดท่าซุงในเวลาประมาณเที่ยงครึ่งถึงบ่าย 16:00 น. ใครที่อยู่โซนนั้นก็มีความสะดวกก็ไปปฏิบัติด้วยกันได้ คนภายนอกก็ขออนุญาตเข้าไปนั่งปฏิบัติได้ แล้วก็จะมีสอนสมาธิครั้งในงานเมตตาสมาธิที่สมาคมศิษย์เก่าจุฬา วันที่ 16 มีนาคม
แล้วก็มีคอร์สพลังแห่งความโชคดีวันที่ 30 มีนาคม ถ้าใครสนใจก็ลงทะเบียนแล้วสมัครเรียนได้
สำหรับเมตตาสมาธิ รออีกสักครู่ถึงจะเปิดลงทะเบียน ถ้าเป็นไปได้ก็พยายามมาฝึกแบบเจอตัวกันก็น่าจะมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นกว่า สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคน
พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สำหรับสัปดาห์นี้สวัสดี
ถอดเสียงและเรียบเรียงโดย : คุณวิลาวัลย์ วลีเดช